วันจันทร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

Main

ปัญญาภายใน
      การจัดการศึกษาจำเป็นต้องสร้างการเรียนรู้อย่างองค์รวมเพื่อพัฒนาผู้เรียนแบบองค์รวมให้ผู้เรียนเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์และสมดุลถึงพร้อมด้วยปัญญาภายในและปัญญาภายนอก
      ปัญญาภายในที่หมายถึง ความเข้าใจต่อตัวเอง ต่อชีวิต ต่อโลกและจักรวาลการอยู่อย่างมีเจตจำนงอย่างมีความหมายทั้งต่อตัวเองและต่อสรรพสิ่ง เป็นทั้งความฉลาดทางจิตวิญญาณ(Spiritual)และความฉลาดทางด้านอารมณ์ (Emotion)
      ปัญญาภายนอกที่หมายถึงความเข้าใจต่อโลกภายนอก ทั้งศาสตร์และศิลป์ ที่เกี่ยวเนื่องกันการดำเนินชีวิตให้อยู่ได้ หรืออยู่ได้อย่างมีคุณภาพ
      จากเด็กแรกเกิดจนถึงวัยทำงานมีความจำเป็นต้องเข้าใจต่อสิ่งต่างๆ ภายนอกในอัตราเร่ง เพราะความเข้าใจต่อสิ่งต่างๆ ตอนเราเกิดมีเท่ากับศูนย์ จึงจำเป็นที่ต้องทำความเข้าใจว่าสิ่งต่างๆ เหล่านั้นคืออะไร มีองค์ประกอบ มีระบบ หรือมีกลไกอย่างไร เพื่อใช้ประโยชน์ในการดำเนินชีวิตและการงาน แต่เมื่อมีอายุมากขึ้น มีประสบการณ์มากขึ้น มีความรู้ที่จำเป็นเพียงพอต่อการดำเนินชีวิตและการงาน เราก็จะรู้สึกว่ามีความจำเป็นต่อการที่จะขนขวายความรู้ภายนอกน้อยลงเป็นลำดับ แต่กลับจะต้องการความเข้าใจต่อตนเอง ต่อชีวิต ต่อความเป็นมนุษย์ และต่อความหมายของการดำรงอยู่มากขึ้นมากขึ้น ในวัยชราเรายิ่งต้องการปัญญาภายในมากขึ้นอีก
การพัฒนานวัตกรรมปัญญาภายใน ที่ลำปลายมาศพัฒนา
      การพัฒนานวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้สู่ปัญญาภายในของโรงเรียนลำปลายมาศได้เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 ปีการศึกษาแรกของโรงเรียนฯเพื่อให้เป็นแนวคิดและกระบวนการพัฒนาทั้งครูและเด็กให้เกิดการเรียนรู้และงอกงามด้านใน หรือ ความฉลาดด้านจิตวิญญาณ
      เริ่มต้นในปีแรกๆ นั้นกระบวนการจิตศึกษาในโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนามีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมเด็กให้สงบผ่อนคลายและให้กลับมารู้เนื้อรู้ตัวก่อนเรียนเท่านั้น หลังจากนั้นโรงเรียนฯ จึงได้พัฒนากระบวนการและกิจกรรมขึ้นมาเป็นลำดับ จนถึงปีการศึกษา 2549 นวัตกรรม จิตศึกษาจึงมีรูปแบบที่ชัดเจน
จิตศึกษา เป็นนวัตกรรมเพื่อพัฒนาปัญญาภายใน ซึ่งทำงานกับสมองชั้นกลางและ สมองชั้นนอกเมื่อใช้กับผู้เรียนด้วยกระบวนการ และ วิธีการของจิตศึกษาจะเป็นการค่อยๆ สร้างการก่อรูปคุณลักษณะของปัญญาภายในขึ้น การฝึกฝน และ ใช้ซ้ำๆ จะทำให้รูปของคุณลักษณะนั้นจะคงตัว
      สมองชั้นในเกี่ยวกับความอยู่รอด เป็นสมองสัตว์เลื้อยคลาน (Reptilian brain)ทำงานตามสัญชาตญาณเพื่อความอยู่รอด ไม่เกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึก หรือความดีงาม เช่นจระเข้อาจกินลูกของตัวได้เมื่อมันหิว
      สมองชั้นกลางเกี่ยวกับอารมณ์ (Limbic brain)เป็นสมองสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ทำงานเกี่ยวกับความรู้สึกหรือความสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ
      สมองชั้นนอก (Neo-cortex)เป็นส่วนที่พอกหนาขึ้นมามากเป็นสมองแห่งความเป็นมนุษย์ ทำหน้าที่ที่ละเอียดอ่อน เช่น คิดเรื่องที่เป็นนามธรรม ความงาม ความดี ความจริง มิติทางวัฒนธรรมและมิติจิตวิญญาณ สมองส่วนนี้ช่วยสร้างโอกาสให้มนุษย์สามารถพัฒนาจิตวิญญาณไปสู่การมีความรักอย่างไพศาลทั้งต่อเพื่อนมนุษย์และต่อสรรพสิ่ง มีอิสระหลุดพ้นจากความบีบคั้นหรือเครื่องครอบทางจิตวิญญาณและทางปัญญา จนมีความสุขอันประณีตเพราะอิสรภาพนั้น

      สมองทั้งสามชั้นทำงานกันคนละหน้าที่แต่ทำงานเชื่อมโยงสัมพันธ์กันเช่นเมื่อเด็กรู้สึกถูกคุกคาม สมองชั้นในของเด็กจะทำงานก่อนด้วยการเข้าสู่ภาวะปกป้องตัวเองหรือการเอาตัวรอดจนอาจทำให้สมองส่วนอื่นๆ ทั้งส่วนการเรียนรู้ คุณธรรม ความรักหยุดทำงานแต่ถ้ากระตุ้นสมองชั้นนอกด้วยการสร้างสัมพันธภาพเชิงบวก ให้เด็กได้เกิดอารมณ์เชิงบวก รู้สึกได้รับคุณค่า เมื่อนั้นสมองส่วนหน้าและสมองส่วนกลางก็จะทำงานได้ดี
คุณลักษณะของผู้เรียนที่บ่งบอกว่าผู้เรียนได้เกิดการก่อรูปของปัญญาภายในขึ้น เราอาจสังเกตได้จากสิ่งเหล่านี้
- รู้ตัวไวหรือการมีสติ ผู้เรียนสามารถกลับมารู้ตัวเองได้ด้วยตัวเองอยู่เสมอรู้เท่าทันความคิดหรืออารมณ์เพื่อให้รู้ว่าต้องหยุดหรือไปต่อกับสิ่งที่กำลังเป็นอยู่เมื่อมีภาวะรู้ตัวไวก็จะสามารถจัดการอารมณ์ตนเองได้รวดเร็วเช่นกัน บรรยากาศเพื่อการกล่อมเกลาให้เกิดภาวะรู้ตัว หรือกิจกรรมที่ฝึกฝนสติต้องไม่ฝืดฝืนกับธรรมชาติของเด็กแต่ละวัยด้วยซึ่งจะมีรายละเอียดภายในหนังสือเล่มนี้
- การมีสัมมาสมาธิสามารถตั้งใจมั่น จดจ่อ เพื่อกำกับให้การเรียนรู้ของตน 
หรือการทำภาระงานของตนให้สำเร็จลุล่วงได้ทั้งมีความอดทนทั้งด้านร่างกายและจิตใจ
- การรับรู้อารมณ์และความรู้สึกของตนเอง (รู้ตัว) และผู้อื่น ได้อย่างว่องไวละกลับมาอยู่กับการใคร่ครวญตัวเองได้เสมอๆ
- การเห็นคุณค่าในตัวเองคนอื่นและสิ่งต่างๆเพื่อการดำเนินชีวิตอย่างมีเป้าหมายและมีความหมาย ซึ่งการเห็นคุณค่าก็จะนำมาสู่การเคารพสิ่งนั้น
- การอยู่ด้วยกันอย่างภารดรภาพยอมรับในความแตกต่างเคารพและให้เกียรติกันการมีวินัยมีความรับผิดชอบต่อตนเองและส่วนรวมอยู่อย่างพอดีและพอใจได้ง่าย
- การเห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างตนเองกับสิ่งต่างๆนอบน้อมต่อสรรพสิ่งที่เกื้อกูลกันอยู่
- การมีจิตใหญ่มีความรักความเมตตามหาศาล
กระบวนทัศน์ของ จิตศึกษา
ฟันเฟืองสำคัญสามตัว ได้แก่
      1. ความเป็นชุมชน ซึ่งเป็นทั้งพื้นที่และบรรยากาศที่เสมือนเป็นเบ้าหลอมใหญ่
      2. จิตวิทยาเชิงบวก ซึ่งเป็นวิธีการที่เน้นชี้ถูก และ การเป็นแบบอย่าง
      3. กิจกรรม ซึ่งเป็นเครื่องมืออันหลากหลายที่ใช้ฝึกฝน
จิตวิทยาเชิงบวกกับการพัฒนาปัญญาภายใน
การใช้จิตวิทยาเชิงบวก
      เมื่อเด็กรู้สึกถูกคุกคาม สมองชั้นในของเด็กจะทำงานก่อนจนอาจทำให้สมองส่วนอื่นๆทั้งส่วนการเรียนรู้คุณธรรมความรักหยุดทำงาน และเข้าสู่ภาวะปกป้องตัวเองหรือการเอาตัวรอด ตัวอย่างภาวะคุกคาม
      กรอบคิดทางจิตวิทยาเชิงบวกคือ ศรัทธาในความดีงามของมนุษย์ และบ่มเพาะผู้เรียนให้มีคุณค่าที่ดีงามซึ่งมีอยู่แล้วให้งอกงามยิ่งขึ้น โดยปฏิบัติต่อผู้เรียนอย่างมนุษย์ที่มีคุณค่าและมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน
การกระทำที่ควรลด เพื่อไม่ให้เป็นการทำลายคุณค่าความเป็นมนุษย์ของเด็กๆ ซึ่งมีมาอยู่แล้ว ทั้งยังเป็นการลดการให้อาหารกับเมล็ดพันธุ์ที่ไม่ดีหรืออารมณ์ด้านลบที่อยู่ภายในจิตของเด็กๆ เพื่อให้เมล็ดพันธุ์ที่ไม่ดีเหล่านั้นไม่เติบโตเช่นความอยาก ความหยิ่ง ความลุ่มหลง ความคิดลบ ความโกรธฉุนเฉียวเจ้าอารมณ์ ความเกลียด ความท้อแท้ ความอิจฉาความกลัว ความเบื่อหน่ายเป็นต้น
ลดการเปรียบเทียบ 
      เราไม่ควรเปรียบเทียบเด็กๆ ไม่ว่าจะโดยการพูดหรือ การกระทำเพราะไม่มีใครอยากถูกเปรียบเทียบว่าตนเองเป็นผู้ที่ด้อยค่ากว่า เด็กทุกคนแสดงพฤติกรรมออกมาอย่างเป็นธรรมชาติของตัวเองจึงไม่ควรเปรียบเทียบ พฤติกรรมระหว่างคนสองคน ถ้าจะชมหรือสะท้อนพฤติกรรมที่ต้องแก้ไขควรกระทำต่อเขาโดยตรงโดยไม่เปรียบเทียบกับคนอื่นหรือแม้แต่การทำงานเด็กๆ จะทำชิ้นงานหรือภาระงานที่ครูมอบให้ออกมาอย่างเต็มศักยภาพ ครูจึงไม่ควรเปรียบเทียบระหว่างเด็กแต่ละคน แต่ครูมีหน้าที่ที่ต้องรู้ให้ได้ว่าพัฒนาการหรือศักยภาพแต่ละด้านเขาอยู่ตรงไหน และหาวิธียกระดับเขาสูงขึ้นให้ได้ ครูไม่มีหน้าที่ตีตราโดยการให้ดาวหรือให้ลำดับ แต่สามารถสะท้อนกลับได้ การชื่นชมหรือการสะท้อนกลับที่ดีกลับจะสร้างแรงบันดาลใจและกำลังใจให้กับผู้เรียนได้อย่างดีเช่นกัน
ลดการตีค่าการตัดสินและการชี้โทษ 
      เด็กทุกคนทำชิ้นงานหรือภาระงานออกมาตามศักยภาพของตนเองอย่างไม่เสแสร้งงานที่ออกมาจะบอกถึงสิ่งที่เด็กรู้สิ่งที่เข้าใจหรือความสามารถของเด็ก ครูมีหน้าที่ต้องรู้ว่ายังเหลือส่วนใดบ้างที่เด็กแต่ละคนยังไม่เข้าใจ หรือยังไม่มีความ สามารถเพื่อจะได้ช่วยยกระดับเรื่องนั้นให้สูงขึ้นคำว่าศักยภาพที่สูงขึ้นไม่ได้มีขีดจำกัด ดังนั้นจึงไม่จำเป็นที่ต้องมีเกณฑ์ใดๆมาจับ ในการประเมินผู้ประเมินหรือครูต้องมีจิตของพรหมอันเต็มเปี่ยมไปด้วยความรักความเมตตา ให้การประเมินเป็นไปเพื่อพัฒนาผู้เรียนไม่ใช่เพื่อการตัดสินใส่ความห่วงใยไว้ทุกๆ การประเมิน
พฤติกรรมของเด็กๆ ก็เช่นกัน การที่ครูเห็นว่าผิดเพราะเป็นพฤติกรรมที่แตกต่างจากกรอบความเชื่อของครูอันเกิดจากกรอบจารีต ค่านิยม หลักศีลธรรม กฎหมาย ข้อตกลงอารมณ์ให้ครูต้องฉุนเฉียว แต่ครูไม่ควรเล่นบทของพระเจ้าที่มีอำนาจคอยเป็นผู้ชี้ถูกผิดและชี้โทษอยู่ร่ำไป แท้จริงเด็กแสดงพฤติกรรมเหล่านั้นออกไปอย่างไม่รู้หรือไม่ก็เพราะความไม่รู้ตัว เพียงครูแสดงอาการตอบสนองให้เขารู้ตัวเช่นการนิ่ง หรือครูตั้งคำถามกลับเพื่อให้เด็กได้รู้ตัว เมื่อรู้ตัวชั่วขณะนั้นเด็กก็จะกำกับตัวเองได้และหยุดพฤติกรรมนั้นได้ชั่วขณะ แต่ชั่วขณะนี้กลับสำคัญยิ่งต่อการเรียนรู้ของสมองส่วนหน้าซึ่งเป็นสมองส่วนที่กำกับการแสดงออกด้วยอารมณ์ด้านบวกหรือด้านของความดีงาม ตัวอย่างคำถามกลับเพื่อให้เด็กได้รู้ตัวและใคร่ครวญ เช่น
เกิดอะไรขึ้นเล่าให้ครูฟังหน่อย?”
ตอนนี้เธอรู้สึกอย่างไร?”
เธอคิดว่าคนอื่นจะรู้สึกกับเรื่องนี้อย่างไร?”
เธอคิดว่าควรทำอย่างไรที่ตัวเองจะสบายใจหรือคนอื่นจะสบายใจ?”
เธอคิดว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไร?”
สิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องตระหนักให้มากคือเราไม่สามารถตามไปชี้ทางหรือตามไปบอกเด็กว่าอะไรควรหรือไม่ควร อะไรถูกหรือไม่ถูกได้ตลอดชีวิต หลังจากที่ไปจากเราเด็กจะเป็นผู้เลือกด้วยตัวเอง ในที่สุดการฝึกให้เด็กได้รู้ด้วยตัวเองอย่างนี้จะทำให้เด็กมีความชำนาญในการที่จะกลับมารู้ตัวได้เร็วขึ้น ทั้งกล้าหาญที่จะเผชิญความจริงอย่างองอาจ เราต้องเชื่อว่า ไม่มีพฤติกรรมใดเลวร้ายเกินกว่าที่จะให้อภัย และไม่มีอุปนิสัยใดที่จะแก้ไขไม่ได้ตราบเท่าที่ให้โอกาสแบบไม่จำกัด
ในอีกทางหนึ่ง ครูกลับได้รับโอกาสดีที่ถูกท้าทายด้วยพฤติกรรมของเด็กที่ทำให้ต้องหงุดหงิดฉุนเฉียวเกรี้ยวกราด มันเป็นได้ทั้งเครื่องทดสอบตัวเองและเครื่องขัดเกลาใจตัวเองไปด้วยในตัว
ลดการล่อหลอกด้วยความอยากอันเป็นเงื่อนไขต่อความรัก 
      เราอาจจะเคยได้ยินว่าพ่อแม่หรือครูบางคนที่บอกเด็กๆ ว่าจะรักพวกเขาก็ต่อเมื่อพวกเขาทำตัวดีๆ ความรักที่มีเงื่อนไขจะทำให้จิตแคบลงซึ่งจะนำไปสู่ความรู้สึกบีบคั้นหากไม่ได้ดั่งใจที่คาดหวัง ความอยากส่วนใหญ่เป็นความอยากในสิ่งที่ยังไม่มีจริงเป็นแค่สิ่งที่คาดหวัง การล่อด้วยความอยากก็จะตามมาด้วยการแข่งขัน แย่งชิงและการหมกมุ่นผูกมัดด้วยความอยากนั้น เช่นการบอกว่า เธอต้องเรียนเก่งที่สุดจึงจะสอบเป็นหมอได้แล้วเธอจะร่ำรวยและมีชีวิตที่ดี
ครูควรบอกเด็กๆว่า แม้สอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ ครูก็ยังรักและศรัทธาในตัวเธอหรือ ไม่ว่าเธอจะเป็นอย่างไรครูยังรักและศรัทธาในตัวเธอหรืออะไรทำนองนี้
ลดการสร้างภาพของความกลัวเพื่อการควบคุม 
     ความกลัวกระตุ้นการทำงานของสมองส่วนอะมิกดาลาทำให้เด็กเข้าสู่โหมดปกป้องหลบหลีกจากสิ่งที่จะทำให้เจ็บปวด สิ่งคุกคามหรือภัยอันตราย ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้เพราะทำให้เด็กไม่กล้าเผชิญกับสิ่งนั้น
ความกลัวเกิดจากการได้เผชิญกับสิ่งนั้นจริงด้วยการได้เห็น ได้ยิน ได้สัมผัสจริง เช่น ถูกตีถูกดุด่าถูกคาดโทษตีตราว่าล้มเหลว ถูกละทิ้งเพิกเฉยให้ไม่ได้รับความรัก ฯลฯ ต่อจากนั้นความกลัวส่วนใหญ่จะมาจากการสร้างภาพของความกลัวขึ้นมาโดยคนอื่นและตามมาด้วยการสร้างจินตนาการ ความกลัวของตนเอง หรือบางครั้งความกลัวก็เกิดจากความไม่รู้
ภาพของความกลัวถูกสร้างขึ้นในโรงเรียนนับร้อยพันอย่าง ส่วนใหญ่มีเบื้องหลังความคิดที่ต้องการควบคุม เช่น ถ้าส่งงานไม่ครบจะติด ถ้าไม่ตั้งใจเรียนจะสอบตกติด “0” หรือ จะให้ติด มสเพราะเวลาเรียนไม่ครบ ถ้าประพฤติไม่ดี จะถูกไล่ออกแล้วเครื่องหมายตราบาปเหล่านี้ก็ติดไปกับหลักฐานทางการศึกษาและติดอยู่ในใจของเด็กตลอดไป ทั้งที่ถ้าพิจารณาในเชิงจิตวิทยาเชิงบวก การกระทำของครูอย่างนั้น เป็นการทำลายคุณค่าความเป็นมนุษย์ในตัวเด็ก
ครูมีหน้าที่ที่จะสร้างหนทางให้เด็กได้มีโอกาสแก้ไขสิ่งต่างๆได้เสมอ หรือแค่เพียงชิ้นงานที่ส่งมาแม้ไม่ได้ครบทุกชิ้นครูก็สามารถประเมินอย่างรอบด้านเพื่อค้นหาความงอกงามได้แล้ว หรือ การที่เด็กไม่สามารถมาเรียนได้ก็สร้างโอกาสให้เขาได้เกิดการเรียนรู้ได้เองโดยไม่จำเป็นต้องมานั่งรวมกันต่อหน้าครูเสมอไป เด็กทุกคนต้องการทางเลือกและโอกาสแบบไม่จำกัด ครูมีหน้าที่อำนวยการให้เด็กรักที่จะเรียนรู้และอำนวยการให้เกิดการเรียนรู้
ลดคำพูดด้านลบ
     การพูดคำด้านลบเช่นการปรามาส การเย้ยหยัน การดุด่า การกดดันคาดคั้น การล้อเลียนถึงปมด้อย การตั้งฉายา ล้วนแต่เป็นคำที่ให้อาหารหล่อเลี้ยงเมล็ดพันธุ์ไม่ดีในจิตให้เติบโต เช่นความกลัว ความเกลียด ความเศร้าหมอง ความรู้สึก ด้อยค่าเป็นต้น ทั้งยังเป็นการฝังความไม่จริงเหล่านั้นลงในจิตใต้สำนึกเพื่อให้มันส่งผลให้เป็นจริงในอนาคต ดังประโยค ที่ว่า เมื่อเราคิด เราพูด เราจะเป็น

เลิกใช้ความรุนแรง 
     ความรุนแรงเป็นพฤติกรรมอย่างหนึ่งของสัตว์ที่แสดงออกมาเพื่อความอยู่รอด แต่มนุษย์ที่มีสมองส่วนหน้าซึ่งวิวัฒนาการมาใหม่กว่าสัตว์ใดๆ เป็นสมองที่เรียนรู้และคอยกำกับเรื่องความดีงาม คุณธรรมจริยธรรมและการแสวงหาสัจจะสูงสุด ด้วยสมองส่วนนี้มนุษย์จึงมีศักยภาพที่จะหยุดความรุนแรง เราแต่ละคนมีหน้าที่หยุดสัญชาตญาณความรุนแรงและ การกดขี่ภายในจิตมนุษย์ด้วยการไม่ส่งต่อพฤติกรรมเหล่านั้นไปยังเด็กๆหรือคนรุ่นต่อๆไป
สิ่งที่ควรทำสำหรับจิตวิทยาเชิงบวก
เพื่อให้อาหารแก่เมล็ดพันธุ์ดีในจิตให้งอกงามเช่น ความรัก ให้อภัยความเบิกบาน ความสงบ เมล็ดพันธุ์ปัญญา ความสุข เป็นต้น
การสร้างภาพพจน์ด้านบวกให้กับผู้เรียนทุกคนโดยการให้ความรัก ให้เกียรติ รับฟัง แสดงความชื่นชมเมื่อมีโอกาส สร้างโอกาสให้เด็กได้ทำงานสำเร็จด้วยตัวเองเสมอๆตั้งแต่การซักถุงเท้าเองหิ้วกระเป๋าเองทำงานในหน้าที่ที่ครูมอบหมาย เพื่อให้เด็กทุกคนรู้สึกได้ว่าตนเองมีคุณค่าได้รับความรักและมีความสามารถ
การปรับพฤติกรรมเชิงบวก 

      ต้องเข้าใจเบื้องต้นก่อนว่าพฤติกรรมมนุษย์แสดงออกนั้นเป็นผลมาจากกระบวนการเรียนรู้และการหล่อหลอมมาจากอดีต พฤติกรรมด้านลบที่แสดงออกมานั้นอาจสืบเนื่องจากการทำงานของสมองส่วนอะมิกดาลาซึ่งจะแสดงออกอย่าอัตโนมัติเมื่ออยู่ในภาวะกังวล ตระหนกหรือกลัว ทั้งนี้เป็นไปเพื่อปกป้องตนเอง
ส่วนพฤติกรรมที่แสดงออกมาจากการทำงานของสมองส่วนหน้าจะแสดงออกด้วยอารมณ์ด้านบวกหรือด้านของความดีงาม แต่ด้วยการทำงานของสมองสองส่วนที่เป็นปฏิภาคกันนั่นคือเมื่อสมองส่วนหน้าทำงานส่วนอะมิกดาลาจะไม่ทำงานหรือแบบตรงข้ามกัน เราจึงมีโอกาสที่จะฝึกฝนให้สมองส่วนหน้าได้ทำงานเพื่อให้เด็กๆได้แสดงออกด้านบวกหรือด้านดีงามมากยิ่งขึ้น
ในการแก้ไขพฤติกรรมด้านลบต้องเริ่มต้นจากให้เชื่อว่า ทุกพฤติกรรมสามารถเปลี่ยนแปลงได้โดยให้การเรียนรู้ใหม่เป็นการเรียนรู้ที่จะแสดงพฤติกรรมแบบใหม่ โดยให้รู้ตัว ให้การเรียนรู้ และให้การฝึกฝน ซึ่งเป็นความสามารถของสมองส่วนหน้าอยู่แล้ว เมื่อผ่านการเรียนรู้และการฝึกฝน ก็จะกลายเป็นอุปนิสัยคือเป็นพฤติกรรมใหม่ที่แสดงพฤติกรรมด้านบวกออกไปอย่างอัตโนมัติ
ให้การรู้ตัว ต้องกระทำด้วยจิตใหญ่คือเต็มเปี่ยมไปด้วยความรักความเมตตา พร้อมที่จะให้อภัยและให้โอกาสแบบไม่จำกัด เพราะพฤติกรรมที่เด็กแสดงออกส่วนใหญ่จะเป็นไปแบบอัตโนมัติ เป็นไปโดยไม่รู้ตัวว่าผิด-ถูกหรือ ไม่รู้ว่าเหมาะสม-ไม่เหมาะสม นั้นคือไม่รู้ตัวว่า ไม่รู้การทำให้เด็กรู้ตัวเป็นบันไดขั้นแรกของการเรียนรู้เพื่อการแก้ไขพฤติกรรม ซึ่งอาจใช้วิธีการตั้งคำถามเช่น เกิดอะไรขึ้น เล่าให้ครูฟังหน่อย?” “เธอกำลังรู้สึกอย่างไร?” “เธอคิดว่าคนอื่นจะรู้สึกกับเรื่องนี้อย่างไร?” การทำให้รู้ตัวเราไม่ควรชี้ถูกผิดหรือชี้โทษ และไม่ควรใช้คำพูดในลักษณะตีตรา การรู้ตัวโดยเฉพาะเมื่อรู้ตัวว่าทำไม่ถูกต้องก็เท่ากับการได้หยุดสมองส่วนอะมิกดาลาเพื่อให้สมองส่วนหน้าได้ทำงานขั้นต่อไป
ให้การเรียนรู้คือการให้เด็กได้ใคร่ครวญกับสิ่งที่เกิดขึ้น ครูอาจจะตั้งคำถามเพื่อให้เด็กได้คิดเทียบเคียงด้วยตนเองกับผลของการแสดงพฤติกรรมทั้งด้านบวกและด้านลบต่อเหตุการณ์นั้น และควรถามเพื่อให้เด็กได้คิดเองว่า จะแก้ไขสิ่งนั้นได้อย่างไรหลังจากนั้นครูควรให้การเรียนรู้ที่เกี่ยวกับพฤติกรรมด้านลบนั้นต่อผ่านเรื่องเล่าจากเหตุการณ์จริงที่เป็นผลของการแสดงออกต่อเหตุการณ์นั้นทั้งทางด้านลบและด้านบวก หรือละครปรับพฤติกรรม
ให้การฝึกฝน หมายถึงการให้เด็กได้แสดงพฤติกรรมด้านบวกออกมาจริงๆ ไม่ใช่แค่พูด โดยใช้พฤติกรรมแม่แบบในการชักนำ อาจเอาแม่แบบจากคนในสังคมที่เป็นแรงบันดาลใจ พ่อแม่หรือครูก็ต้องเป็นแบบถูก เช่น เมื่อรู้ว่าร้านค้าทอนเงินให้เกินพ่อแม่ต้องแสดงให้เด็กเห็นว่าไม่ถูกต้องซึ่งต้องคืนเงินส่วนที่ได้รับเกินมา เมื่อเห็นขยะซึ่งไม่รู้ว่าใครเป็นคนทิ้งเราก็ก้มเก็บไปทิ้งถังขยะเสียเองแทนที่จะพร่ำบ่นหรือต่อว่าเด็กๆ ที่อยู่ใกล้ๆ บริเวณนั้นเมื่อเด็กพูดไม่ถูกต้องหรือพูดคำไม่สุภาพครูไม่ควรผลีผลามตำหนิออกไปแต่ให้พูดสิ่งที่ถูกต้องแทนเพื่อให้เด็กได้พูดทวนคำที่ถูกต้องนั้น
      หรือขณะที่ครูกำลังสอนถ้ามีเด็กบางคนเล่นกันไม่ตั้งใจเรียนแทนที่ครูจะตำหนิเด็กคนนั้นครูอาจจะใช้การชมหรือขอบคุณผู้ตั้งใจเรียนแทน เมื่อเด็กได้เรียนรู้ว่าจะแก้ไขพฤติกรรมด้านลบเหล่านั้นอย่างไรแล้วครูต้องสนับสนุนให้เขาแก้ไขสิ่งนั้นให้ลุล่วงด้วยตนเองแล้วให้การชื่นชม การทบทวนฝึกฝนยังต้องทำต่อไปอีกระยะ ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าพฤติกรรมด้านลบนั้นฝังอยู่ในจิตลึกเพียงใด
รูปแบบการจัดกิจกรรม "จิตศึกษา"
กิจกรรมจิตศึกษามีการจัดใน 2 รูปแบบดังนี้
รูปแบบที่ 1 จัดกิจกรรมในคาบเวลาของ จิตศึกษา
      โรงเรียนสามารถจัดใช้เวลาสำหรับกิจกรรมจิตศึกษาเพื่อมุ่งเป้าหมายพัฒนาปัญญาภาในให้กับผู้เรียนไว้โดยเฉพาะ ซึ่งควรใช้เวลาประมาณ 20 นาทีก่อนเรียนในภาคเช้าและ 15 นาทีก่อนเริ่มการเรียนในภาคบ่าย ทั้งนี้จะได้คุณค่าเพิ่มตรงที่กิจกรรมจิตศึกษายังเป็นการเตรียมความพร้อมทั้งทางกายและใจให้กับผู้เรียนก่อนเรียนไปด้วยในตัว และ อีกช่วงหนึ่งอาจจัดตอนสิ้นวันโดยใช้เวลาประมาณสัก 20-30นาที เพื่อให้ทุกคนได้กลับมาสู่ความสงบ กลับมาสู่ตัวเอง แล้วใคร่ครวญและสะท้อนถึงสิ่งที่ได้เรียนมาทั้งวัน ก่อนการกลับบ้าน
รูปแบบที่ 2 การบูรณาการศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับจิตศึกษาในหน่วยการเรียนหลัก
ศาสตร์ (เนื้อหา) / ตัวอย่างกิจกรรม
      1. การเรียนรู้จักรวาลวิทยา (Cosmology) เพื่อให้เห็นหรือตระหนักรู้ว่าตัวเราเล็กนิดเดียวโลกเราเล็กนิดเดียวได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์จักรวาลประวัติศาสตร์อันยาวนานของโลกและการผ่านช่วงเวลาต่างๆของโลกการกำเนิดสิ่งมีชีวิตและการค้นหาเจตจำนงที่มีความหมายของการกำเนิดสิ่งต่างๆรวมทั้งตัวเอง
ตัวอย่างกิจกรรมดูดาวดูพระอาทิตย์ขึ้นหรือตกสารคดีการกำเนิดมนุษย์หรือการเกิดโลกและจักรวาลเรียนรู้ปรากฏการณ์ธรรมชาติเช่นฝนดาวตกสึนามิแผ่นดินไหว
      2. การเรียนรู้และสัมผัสนิเวศแนวลึก (Deep Ecology) เพื่อจะได้ตระหนักว่าจักรวาลหรือโลกคือศูนย์กลางไม่ใช่มนุษย์สิ่งต่างๆมีคุณค่าในตัวไม่ได้มีคุณค่าเพราะเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ทุกสิ่งมีประโยชน์การนำสิ่งที่คิดว่าไม่มีประโยชน์มาสร้างให้เป็นประโยชน์การดำรงอยู่อย่างสัมพันธ์และเชื่อมโยงกับสิ่งต่างๆอย่างเป็นหนึ่งเดียว
ตัวอย่างกิจกรรมการดูนกหรือสังเกตพฤติกรรมพืช-สัตว์การจัดการของเสียให้มีคุณค่าการใช้ประโยชน์จากสิ่งพื้นๆการมองหาคุณค่าจากสิ่งที่ไม่มีค่าการฟังเสียงจากธรรมชาติ
ตัวอย่างความรู้สึกเชิงระบบนิเวศน์แนวลึก
ใบไม้ขอนไม้ทิ้งเกลี่ยเรี่ยลาดต้นไม้หลากหลายพันธุ์เบียดแบ่งแสงกันเห็ดราซอนไซกับกิ่งใบไม้ผุเรียกหมู่มดปลวกแมลงมาหาอาหารและทำรังนกเล็กๆก็พลอยมีอาหารและที่หลบภัยแม้ว่าที่นี่จะเป็นที่รกเรื้อไร้ระเบียบแต่กลับเป็นระบบที่จัดการตนเองและเกื้อกูลกันเห็ดรารู้ว่าจะหาขอนไม้ผุได้จากที่ไหนส่วนมดปลวกก็ทำหน้าที่ตนเองโดยไม่มีใครสั่ง
      3. การร่วมกิจกรรมเสริมหลักสูตรเช่นกิจกรรมทางศาสนาพิธีกรรมบางอย่างกิจกรรมการสวดมนต์การภาวนาฝึกจิตภาวนาแบบทอเลน(เปลี่ยนความเลวร้ายให้บริสุทธิ์โดยหายใจเข้าเอาพิษร้ายแห่งความเกลียดชังความกลัวความโหดร้ายเข้าไปหายใจออกทดแทนความชั่วร้ายเหล่านั้นด้วยความดีงามเช่นความกรุณาและอโหสิกรรม) การสร้างศรัทธาต่อชีวิตหรือบางสิ่งบางอย่างที่มีความหมายต่อตนหรือกิจกรรมเสริมหลักสูตรนอกโรงเรียนเช่นกิจกรรมเดินทางไกลเพื่อเพิ่มขีดความอดทนทั้งทางด้านจิตใจและร่างกายกิจกรรมการปลีกวิเวก (Retreat) ไกลจากผู้คนใกล้ชิดธรรมชาติสงัดสงบลำพังเช่นเข้าค่ายอนุรักษ์ได้อยู่มุมเงียบๆตามลำพังบนบ้านต้นไม้การเดินทางไกล
      4. การได้ปฏิบัติงานศิลปะดนตรีหรือการละครเพื่อการเข้าถึงความรู้สึกอันละเอียดอ่อนด้านในของมนุษย์
      5. การได้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมทางสังคมจิตอาสาและการบำเพ็ญประโยชน์เช่นอาสาสมัครช่วยสอนหนังสือน้องในโรงเรียนหรือโรงเรียนอื่นๆ
      6. การได้ใช้กิจกรรมในการรับรู้และการรับฟังอย่างลึกซึ้งที่เป็นการสื่อสารแนวราบเน้นการฟังอย่างมีคุณภาพไม่เน้นการตัดสินกระบวนการนี้จะทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันและเกิดปัญญาร่วม
      7. การได้ทำกิจกรรมของหลักสูตรซ่อนซึ่งไม่มีการกำหนดเป้าหมายเวลาเครื่องมือหรือการวัดผลใดๆไว้เลยเช่นงานอดิเรกการเล่นอิสระการปะทะกับสังคมและสิ่งแวดล้อมการกลับไปสู่วัยเด็กอันบริสุทธิ์
ขั้นการจัดกิจกรรมจิตศึกษาก่อนเรียน
ขั้นตอนกิจกรรมจิตศึกษา 20 นาทีก่อนเรียนภาคเช้า
กิจกรรมเริ่มต้น 
(2-4 นาที)
ครูและนักเรียนนั่งลอมวงกลมเป็นวงเดียวเพื่อเปิดพื้นที่เข้าหากัน เพื่อให้การแสดงออกต่อกันเป็นไปอย่างเปิดเผยด้วยภาษาพูดและภาษากาย หากพื้นที่ไม่เพียงพอก็จัดให้เด็กนั่งตามเหมาะสมแต่ให้พยายามไห้ทุกคนได้มองเห็นกันและกันให้มากที่สุด และไม่เบียดชิดกันเกินไป หรือ ครูอาจจัดนอกห้องเรียนใต้ร่มไม้ที่มีพื้นที่โปร่งสบาย ให้ผู้เรียนที่คนรู้สึกผ่อนคลายไม่รู้สึกว่าถูกบังคับหรือถูกคุกคาม
กิจกรรมเพื่อการมีสติฝึกฝนให้กลับรู้ตัวกับสิ่งที่ทำเช่น กำหนดการรับรู้ที่ลมหายใจเข้าออก รับรู้การเคลื่อนไหวของนิ้วหรือมือ การรับฟังเพื่อแยกแยะเสียงธรรมชาติที่อยู่รอบตัว
กิจกรรมหลัก (10-15 นาที)
เป็นกิจกรรมที่มีเป้าหมายชัดเจน เช่น เพื่อให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองและสรรพสิ่ง เพื่อการค้นลึกเข้าไปในตนแล้วสะท้อนตนเองออกมา เพื่อให้เห็นคุณค่าของคนอื่นและการเคารพกันและกัน เพื่อฝึกสมาธิ เป็นต้น และในการจัดกิจกรรมต้องเป็นกิจกรรมที่มีความต่อเนื่องเชื่อมโยงหรือสัมพันธ์กันของกลุ่มคนที่ทำ
กิจกรรมจบ (1-3 นาที) ให้ทุกคนได้มีโอกาสขอบคุณคนอื่นหรือสิ่งต่างๆ และให้ได้มีโอกาสEmpowerกันและกัน


ความสำคัญของกิจกรรมการของคุณ
อานุภาพแห่งการขอบคุณ
การขอบคุณ โดยแท้จริงก็คือการขอบคุณชีวิตเพื่อการมีชีวิตอยู่ด้วยความรู้สึกขอบคุณขอบคุณธรรมชาติซึ่งให้ชีวิตอื่นที่เกื้อกูลเราอยู่ขอบคุณผู้อื่นที่ทำเพื่อเราและให้เราได้มีโอกาสได้ช่วยเหลือเอื้อเฟื้อต่อผู้อื่น ขอบคุณแรงบันดาลใจที่ทำให้เรามีเจตจำนงที่จะทำสิ่งที่ดีงาม
"การขอบคุณ"เป็นการเริ่มต้นของการใช้พลังงานด้านบวกเมื่อเราเริ่มต้นขอบคุณอะไรสักอย่างหรือใครสักคน หลายๆ คนจะรู้สึก "หัวใจพองโต"อิ่มเอิบอบอุ่น
กิจกรรมขอบคุณสามารถทำได้หลายๆ ช่วงเวลา เพราะใช้เวลาเพียงสั้นๆ และ ควรเป็นกิจกรรมที่ดำเนินไปอย่างสงบเพื่อการขอบคุณจริงๆ
ตัวอย่าง
โรงเรียนฯจัดอาหารกลางวันให้เพียงพอทั้งปริมาณและคุณค่า
เด็กๆ ได้กล่าวคำขอบคุณข้าว
ขอบคุณพ่อแม่ที่ให้กำเนิดเรามา ขอบคุณโลกที่ให้เราได้อาศัยอยู่ ขอบคุณทุกคนที่ให้เราได้รับประทานอาหารในมื้อนี้ เราจะรับประทานอาหารอย่างเอร็ดอร่อย ขอบคุณครับ/ค่ะ
Body Scan
Body Scanหรือการทำให้รับรู้ความรู้สึกที่ร่างกาย
      เป้าหมายระดับต้นคือทำให้เด็กๆ ผ่อนคลายซึ่งความรู้สึกผ่อนคลายจะช่วยในการ เรียนรู้ได้ดีกว่าความรู้สึกเครียดหรือกังวนใจ Body Scan จะทำให้รู้สึกสงบ คลื่นสมองจากความถี่สูงๆ จะกลายเป็นความถี่ที่ต่ำลง พอสงบคลื่นสมองต่ำก็ยิ่งเรียนรู้และการใคร่ครวญก็ดียิ่งขึ้น ส่วนเป้าหมายระดับสูงขึ้นมาอีกก็คือการใช้ Body Scan เพื่อเป็นการฝึกฝนสติให้กับเด็กๆ การฝึกฝนสติบ่อยๆ จะทำให้เด็กๆ กลับมารู้ตัวไวหรือ ชำนาญมากขึ้นในการกลับมารู้ตัว
      คำว่า สติถ้าพูดกับเด็กๆ ก็อาจจะเข้าใจยากในระดับเด็กๆ เราเรียกว่าการรู้ตัว
Body Scan สามารถทำได้หลายแบบ ทั้งแบบยืนแบบนั่ง แบบนอน หรือ แบบ บางส่วนของร่างกายก็ได้ เช่น เฉพาะใบหน้า มือทั้งสองข้าง หรือ เฉพาะฝ่าเท้า เป็นต้น
      ในการทำครูจะใช้คำเหนี่ยวนำให้เด็กรับรู้ความรู้สึกไปทีละจุดถ้าทำกิจกรรมนี้ลึกลงไปอีกจะถึงขั้นการฝึกวิปัสสนาสำหรับเด็กได้เลยด้วยการให้เด็กได้เห็นความรู้สึกทางกายที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และ ดับไป เช่นถ้ายืนนานๆแรงกดที่ฝ่าเท้าก็เริ่มทำให้เท้าปวดเพียงเฝ้าดูสักพัก ก็จะเห็นตัวการรับรู้ความรู้สึกนั้นเปลี่ยนไป หรือไม่ว่าความรู้สึกทางกายอื่นใดก็เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นอาการคันที่ผิวหนัง อาการเหน็บ อาการปวดที่ต้นคอ เป็นต้น หากครูสามารถสามารถนำเด็กๆ ไปต่อได้อีกเด็กๆ ก็จะเป็นไตรลักษณ์ในทุกๆ สิ่ง
      การ Body Scan เป็นการดึงจิตกลับมาอยู่ที่ความรู้สึกทางกาย ไม่ให้ฟุ้งซ่านพอแด็กชำนาญการรู้สึกทางกายแล้วก็สามารถฝึกฝนสู่การรู้ให้เท่าทันความคิดที่เกิดขึ้นรู้เท่าทันความรู้สึกของอารมณ์อื่นที่เกิดขึ้น


ขั้นตอนกิจกรรม Body Scan 15-20 นาที
      1. ขั้นเตรียม 1-2 นาที
      2. ขั้น Scanและใส่ข้อมูลที่ดี 10-20นาที
      3. ขั้นปลุก 1-2 นาที

ตัวอย่างการพูดเพื่อเหนี่ยวนำในการทำ กิจกรรม Body Scan แบบยืนขั้นเตรียม

      เชิญชวนทุกคนยืนแยกเท้าทั้งสองข้างออกพอประมาณช่วงไหล่ เพื่อทำให้การทรงตัวดีขึ้น ปล่อยมือตามสบาย แนบข้างลำตัว หย่อนหัวไหล่เล็กน้อยให้หัวไหล่ผ่อนคลาย ปิดเปลือกตาลงอย่างผ่อนคลาย หายใจเข้าออกยาวๆ สักสี่ห้าครั้งเพื่อให้เห็นการเคลื่อนไหวของลมหายใจและรับรู้ความรู้สึกสัมผัสที่ปลายจมูก จดจ่อการรับรู้ที่ปลายจมูกขณะลมหายใจเข้าออกอีกสักพัก
ขั้น Scan และใส่ข้อมูล
      จากนั้นก็จับความรู้สึกไปที่เท้าทั้งสองข้างของตัวเองรับรู้สึกถึงจุดสัมผัสที่มีน้ำหนักกดลงไปบนฝ่าเท้าทั้งสองข้าง เริ่มรู้สึกจุดสัมผัสไปที่นิ้วโป้ง จับความรู้สึกไล่เรียงไปทีละนิ้วจากนิ้วเท้าซ้ายไปขวา รับรู้ถึงน้ำหนักของเราให้กระจายไปจนทั่วฝ่าเท้า จับความรู้สึกที่ข้อเท้า รับรู้ถึงแรงตึงที่ข้อ แรงกดของน้ำหนักตัวที่กดลงตรงข้อเท้าถัดจากนั้นขยับการรับรู้มาที่กล้ามเนื้อน่องทั้งสองข้าง รู้สึกถึงความตึงของกล้ามเนื้อที่น่องทั้งสองข้าง รับรู้สักพักก็ขยับมารับรู้ถึงแรงกดที่หัวเข่าทั้ง สองข้าง มีทั้งแรงกดและแรงตึงไล่ขึ้นมาที่กล้ามเนื้อขาท่อนบน รู้สึกถึงแรงตึงของกล้ามเนื้อขาขยับมาที่บั้นเอวรับรู้แรงกดที่บั้นเอว แรงตึงของกล้ามเนื้อรอบๆ บั้นเอว ขยับขึ้นมารับรู้ที่ต้นคอสัมผัสและรับรู้ถึงแรงตึงที่กล้ามเนื้อต้นคอ
      (ใส่ข้อมูล)ปล่อยให้ไหล่ผ่อนสบายๆ ปล่อยให้ร่างกายของเรายืนอยู่ด้วยความสงบและเบาสบายเพื่อให้เราได้รู้สึกขอบคุณร่างกายของเรา ขอบคุณเท้าทั้งสองข้างที่นำพาเราไปยังที่ต่างๆ ตั้งแต่เล็กจนโต ขอบคุณขาทั้งสองข้างที่ทำให้เรายืนขึ้นได้อย่างมั่นคง ขอบคุณมือทั้งสองข้างของเราที่ช่วยทำสิ่งต่างๆ ที่ดีงามให้เกิดขึ้นแก่โลกนี้ ขอบคุณทุกลมหายใจที่ยังอยู่กับเรา
ขั้นปลุก
      รับรู้ลมหายใจเข้าออกด้วยความสงบ (ใช้เวลาช่วงนี้สักนาที)ทุกคนลืมตาขึ้นด้วยความรู้สึกสงบและผ่อนคลายหลังจากนั้นอาจ ทำ Brain Gym หรือ กิจกรรมอื่นสั้นๆ ที่เป็นการกระตุ้นให้ร่างกายกลับมาใช้ประสาทสัมผัสทุกส่วนได้อย่างเต็มที่อีกครั้ง

ตัวอย่างการพูดเพื่อเหนี่ยวนำในการทำ กิจกรรม Body Scan แบบนอน

ขั้นเตรียม

      นอนหงายในท่าที่ผ่อนสบาย แยกเท้าออกพอประมาณแล้วปล่อยให้เท้าผ่อนในท่าที่สบาย วางมือทั้งสองไว้ข้างลำตัว หงายฝ่ามือขึ้น ปล่อยให้มืออยู่ในลักษณะกึ่งกำกึ่งเหยียดในท่าที่สบาย เราปิดเปลือกตาลงเบาๆ รู้สึกถึงการผ่อนคลายที่เปลือกตา จากนั้นหายใจเข้าลึกๆ ปล่อยลมหายใจออกช้า ๆ หายใจเข้ารู้สึกสบาย หายใจออกรู้สึกผ่อนคลาย เราเริ่มผ่อนคลายทุกส่วนของร่างกาย
ขั้น Scanและใส่ข้อมูล
      ผ่อนคลายกล้ามเนื้อหัวคิ้ว คิ้วที่ขมวดอยู่คลายออก เรารู้สึกกล้ามเนื้อหัวคิ้วได้รับการผ่อนคลาย เรารู้สึก เบา สบาย อิ่มเอม มีความสุข หลับสบาย หลับลึกลง ๆ ทุกที
      ผ่อนคลายกล้ามเนื้อแก้มทั้งสองข้าง แก้มทั้งของข้างของเราได้รับการผ่อนคลาย เรารู้สึกเบา สบาย อิ่มเอม มีความสุข หลับสบาย หลับลึกลง ๆ ทุกที
      ผ่อนคลายกล้ามเนื้อคาง คางของเราได้รับการผ่อนคลาย เรารู้สึก เบา สบาย อิ่มเอม มีความสุข หลับสบาย หลับลึกลง ๆ ทุกที
      ผ่อนคลายกล้ามเนื้อริมฝีปาก ปากที่เม้มอยู่คลายออกและผ่อนคลายเรารู้สึก เบา สบาย อิ่มเอม มีความสุข หลับสบาย หลับลึกลง ๆ ทุกที
      (จากนั้นก็ Scan ต่อไป ที่ไหล่ แขนทั้งสองข้าง มือ กล้ามเนื้อหน้าอก สีข้าง แผ่นหลัง ขาทั้งสองข้าง ฝ่าเท้า)
      (ใส่ข้อมูล)ปล่อยร่างกายของเราได้หลับอย่างสบายเพื่อให้เราได้รู้สึกขอบคุณร่างกายของเรา ขอบคุณเท้าทั้งสองข้างที่นำพาเราไปยังที่ต่างๆ ตั้งแต่เล็กจนโต ขอบคุณขาทั้งสองข้างที่ทำให้เรายืนขึ้นได้อย่างมั่นคง ขอบคุณมือทั้งสองข้างของเราที่ช่วยทำสิ่งต่างๆ ที่ดีงามให้เกิดขึ้นแก่โลกนี้ ขอบคุณทุกลมหายใจที่ยังอยู่กับเราขอบคุณทุกสรรพสิ่งที่เกื้อกูลเราอยู่ หายใจเข้าลึกๆ และผ่อนลมหายใจออกช้าๆ บอกตัวเองว่าเราเป็นคนที่น่ารัก เป็นคนที่ยอดเยี่ยม เป็นคนที่รู้เวลา เป็นคนที่มีความรักที่ยิ่งใหญ่ บอกตัวเองว่าเราเป็นคนที่อดทน มุ่งมั่น เสียสละ และกล้าหาญที่จะทำในสิ่งที่ดีงาม
ขั้นปลุก
เราจะได้ยินการนับ 1 - 3 เพื่อให้เราเริ่มรู้สึกตัว นับ 1 เรารู้สึกที่มือทั้งสองข้างของเรา นับ 2 เรารู้สึกที่ฝ่าเท้าทั้งสองข้างของเรา นับ 3 เราค่อยๆลืมตา ค่อยๆ กระพริบตา เพื่อปรับสายตาเราเข้ากับแสงสว่าง เราจะบอกตัวเองว่าเราจะตื่นมาพร้อมกับความสดชื่น ความกระปี้กระเป่า แล้วเราค่อยๆ เอียงตัวลุกขึ้นนั่ง เราช่วยดูแลเพื่อนข้างๆ แล้วเราค่อยๆ สะกิดคนข้างเรา อย่างเบาๆ เพื่อเป็นการรู้ตัว
หลังจากนั้นอาจ ทำ Brain Gym หรือ กิจกรรมอื่นสั้นๆ ที่เป็นการกระตุ้นให้ร่างกายกลับมาใช้ประสาทสัมผัสทุกส่วนได้อย่างเต็มที่อีกครั้ง

ตัวอย่าง กิจกรรม Body Scan จากการฟังการอ่าน

ขั้นเตรียม
 
      ครูให้เด็กๆ นอนในท่าที่สบาย ปิดเปลือกตาลง ให้หายใจเข้าออกยาวๆ สี่ถึงห้าครั้งเพื่อจับความรู้สึกที่ปลายจมูกที่ปรากฏชัด แล้วจดจ่อเพื่อรับรู้ความรู้สึกที่ปลายจมูกอย่างต่อเนื่อง
ขั้น Scan 
      ครูอ่านวรรณกรรม ที่เรื่องมีความยาวสักสิบนาที หรือถ้าเป็นเรื่องยาวมากก็อ่านเป็นตอนๆ
ขั้นปลุก 
      ทำ Brain Gym หรือ กิจกรรมอื่นสั้นๆ ที่เป็นการกระตุ้นให้ร่างกายกลับมาใช้ประสาทสัมผัสทุกส่วนได้อย่างเต็มที่อีกครั้ง

ตัวอย่าง กิจกรรม Body Scan จากการฟังเรื่องเล่า

ขั้นเตรียม 
      ครูให้เด็กๆ นอนในท่าที่สบาย ปิดเปลือกตาลง ให้หายใจเข้าออกยาวๆ สี่ถึงห้าครั้งเพื่อจับความรู้สึกที่ปลายจมูกที่ปรากฏชัด แล้วจดจ่อเพื่อรับรู้ความรู้สึกที่ปลายจมูกอย่างต่อเนื่อง
ขั้น Scan
      จินตนาการว่ามีลูกโป่งอยู่ที่ท้องของเรา หายใจเข้าลูกโป่งที่ท้องของเราพองออก หายใจออกลูกโป่งแฟบลง เราตามดูการพองและแฟบของลูกโป่งที่อยูตรงท้องเราสักระยะ (ฝึกให้หายใจด้วยท้องเพื่อให้ปอดได้ทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพที่สุด) เด็กๆ รู้สึกผ่อนคลายทุกส่วนของร่างกาย ร่างกายของเรารู้สึกผ่อนคลาย จินตนาการว่าเรากำลังเดินทางไปเที่ยว ซึ่งตอนนี้รถไฟขบวนยาวจอดรอเราอยู่ รถไฟมีตู้สีเขียว ตู้สีแดง ตู่สีเหลือง และสีอื่นๆ อีกมากมาย ขอให้เด็กๆ เลือกขึ้นตู้รถไฟตามสีที่เด็กๆ ชอบ เมื่อขึ้นไปแล้ว เราก็จะเห็นเก้าอี้สีเดียวกับตู้รถไฟ เด็กๆ เลือกที่นั่งตามชอบใจ จะเป็นริมหน้าต่างด้านซ้าย หรือริมหน้าต่างด้านขวา รถไฟค่อยๆ เคลื่อนตัวช้าๆ จากนั้นก็เร็วขึ้นๆ รถไฟวิ่งผ่านทุ่งนา ลมเย็นๆ โชยมาปะทะใบหน้าเราทำให้เรารู้สึกเย็นสบาย เด็กๆ มองออกไปนอกหน้าต่างจะเห็นทุ่งนากว้างยาวสุดสายตา เห็นต้นไม้วิ่งสวนทางกับกับเราเห็นทิวเขาที่อยู่ไกลๆ เห็นฝูงวัวกำลังตั้งใจกินหญ้าที่กลางทุ่งนา ..(แล้วแต่จะให้เห็น) รถไฟวิ่งผ่านภูเขา เด็กๆ เห็นต้นไม้หนาแน่นขึ้น บางต้นก็สูงใหญ่มาก เห็นฝูงลิงกำลังปีนป่ายห้อยโหนอยู่บนกิ่งไม้..(แล้วแต่จะให้เห็นแต่ต้องไม่เยอะเกินไปเพราะจะอยากต่อการจดจำจนสับสน) รถไฟวิ่งผ่านน้ำตก น้ำที่ตกลงมากระเด็นมาโดนใบหน้าของเรา ทำให้รู้สึกเย็นสดชื่นที่ใบหน้า รถไฟวิ่งผ่านทะเล เด็กๆ เห็นคลื่นทะเลกำลังม้วนตัวเล่นไล่จับกันขึ้นมาบนฝั่ง เด็กๆ ได้ยินเสียงคลื่นเวลาที่วิ่งขึ้นมาบนฝั่ง เด็กๆ เห็นหาดทรายที่ขาวสะอาด เห็นปูกำลังวิ่งเล่นบนหาดทราย รถไฟวิ่งผ่านทุ่งหญ้าที่มีสีเขียว เห็นยอดหญ้ากำลังเต้นระบำกำสายลมอย่างมีความสุข แล้วรถไฟพาเด็กๆ กลับมายังโรงเรียนลงจากรถไฟตู้อย่างมีความสุขเราบอกตัวเองว่าเราเป็นคนที่น่ารัก เป็นคนที่ยอดเยี่ยม หายใจเข้ารับเอาความรักความอบอุ่นจากจักรวาลเข้าไปในร่างกายของเรา หายใจออกนำความรู้สึกที่แห่งความปรารถนาดีและนำความรักเผื่อแผ่ให้กับคนที่อยู่รอบข้างเรา ให้กับทุกสรรพสิ่งในโลกนี้ เราบอกตัวเองว่าเรารักตัวเอง รักทุกๆ คน และทุกๆ คนก็รักเรา เราบอกตัวเองว่าเราเป็นคนที่ตั้งใจเรียนรู้เวลา มีความรับผิดชอบ
ขั้นปลุก
      นับ 1 บอกตัวเองว่าเราน่ารัก นับ 2 บอกว่าเราเป็นคนที่รู้เวลา นับ 3 บอกว่าเราเป็นคนที่รักคุณพ่อ รักคุณแม่ นับ 4 บอกว่าเรารักเพื่อนๆ รักคุณครู รักทุกๆ คน นับ 5 ทุกๆ คน ก็รักเรา นับ 6 เราเป็นคนที่ตั้งใจเรียน นับ 7 เราจะเล่นกับเพื่อนทุกคน นับ 8 เราเป็นคนที่มีน้ำใจแบ่งของเล่นให้กับเพื่อน นับ 9 บอกตัวเองว่าเราเป็นคนที่มีความสุขที่สุดที่ได้มาโรงเรียนในวันนี้ นับ 10 บอกให้ตัวเองลุกขึ้นนั่งช้าๆ
พิธีชา / พิธีนม
ขั้นตอนกิจกรรม  พิธีชา หรือ AAR หลังเลิกเรียน
ขั้นเตรียม  ใช้กิจกรรมที่ทำให้มีสติ  หรือ การดื่มนมหรือกินว่างอย่างมีสติ  นอบน้อม และ ด้วยความขอบคุณต่อสิ่งที่ดื่มกินเข้าไป
ขั้นกิจรรมหลัก 
กิจกรรม AAR (After Action Review) เพื่อใคร่ครวญ และ ทบทวนสิ่งที่ได้เรียนมาทั้งวัน  หรือใคร่ครวญกับเหตุการณ์สำคัญในวันนั้น
กิจกรรม BAR (Before Action Review)เพื่อนัดหมาย และ การมองให้เห็นภาพที่จะเกิดขึ้นในวันวาเรียนวันถัดไป
กิจกรรมจบขอบคุณสำหรับวันที่ผ่านมา